อาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

อาการเมื่อเริ่มเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

ในระยะแรกๆ หรือระยะเริ่มต้นของมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรือไม่แสดงอาการที่ชัดเจน เนื่องจากอาการทั่วไปคล้ายคลึงกับโรคต่อมลูกหมากโต หรือต่อมลูกหมากอักเสบ ผู้ป่วยจึงมักละเลยอาการเพราะคิดว่าเป็นธรรมดาเมื่ออายุสูงขึ้น ดังนั้นการตรวจคัดกรองหรือตรวจสุขภาพจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการตรวจพบมะเร็งได้เร็วขึ้น จะได้สามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีและในระยะต้นๆ มะเร็งต่อมลูกหมากสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งในผู้ป่วยบางราย หากรอให้มีอาการแล้วไปตรวจ อาจพบในระยะที่โรคลุกลามหรือระยะท้ายๆ แล้ว จะยากและเป็นอุปสรรคในการรักษาได้ สำหรับอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากที่อาจพบได้ มีดังนี้

อาการ เมื่อเริ่มเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

สัญญาณเตือนอาการ มะเร็งต่อมลูกหมากในเบื้องต้น

    • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืนปัสสาวะบ่อยผิดปกติ หรือปัสสาวะราด
    • ระหว่างถ่ายปัสสาวะมีอาการปวด แสบ
    • ปัสสาวะลำบาก ถ่ายปัสสาวะไม่ออก หรือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • มีเลือดในน้ำปัสสาวะ หรือน้ำอสุจิ
    • ปวดหรือแน่นตึงบริเวณบั้นเอว เชิงกราน หรือต้นขา เป็นต้น
    • ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือปัสสาวะราดเท้า
    • เวลาหลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอดจะปวด

หากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดต่อไป

ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากจากปัสสาวะ

 

 

” กลุ่ม PARANG คือ กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ
ด้านโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่มาให้ความรู้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ถูกต้อง “

อาการ เมื่อมะเร็งต่อมลูกหมากลุกลาม

หากมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายลุกลาม นั่นหมายถึงเซลล์มะเร็งจะขยายตัวออกจากต่อมลูกหมาก แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง กระดูก และอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ไต สมอง ปอด เป็นต้น ซึ่งอาการขึ้นกับขนาดของเซลล์มะเร็งและตำแหน่งที่แพร่กระจายไป แต่อย่างไรก็ตามอาการบางอย่างอาจเกิดจากการรักษาก็เป็นได้

    • มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
    • ร่างกายอ่อนเพลีย อ่อนแรงกว่าปกติ
    • รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนล้า

อาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่มะเร็งลุกลาม เช่น

    • ถ้ามะเร็งต่อมลูกหมากลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ต้นขา ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้นอาจมีอาการบวมโต เป็นก้อน ทำให้มีการหมุนเวียนของระบบน้ำเหลืองได้ไม่ดี มีการอุดกั้น จึงอาจมีอาการขาบวม เท้าบวม เกิดขึ้นได้
    • ถ้ามะเร็งต่อมลูกหมากลามไปที่ประสาทไขสันหลัง ก้อนมะเร็งอาจไปกดที่เส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้เส้นประสามทำงานผิดปกติ เกิดอาการชา ปวดหลัง และอ่อนแรง
    • ถ้ามะเร็งต่อมลูกหมากลามไปที่สมอง อาจมีอาการปวดศีรษะ เดินเซ แขนขาอ่อนแรง หรือมึนงง
    • ถ้ามะเร็งต่อมลูกหมากลามไปที่ตับ อาจรู้สึกปวดหรือไม่สบายท้อง รู้สึกไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด อาจมีการท้องบวม หรือ สีผิวและบริเวณตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
    • ถ้ามะเร็งต่อมลูกหมากลามไปที่ปอด อาจมีอาการไอ หายใจสั้น มีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
    • ถ้ามะเร็งต่อมลูกหมากลามไปกระดูก กระดูกสันหลัง ซี่โครง หรือเชิงกราน ซึ่งโดยมากกระดูกเป็นอวัยวะที่พบการแพร่กระจายองมะเร็งต่อมลูกหมากได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกระดูก ปวดหลัง ซี่โครง หรือเชิงกราน และกระดูกจะเปราะบางขึ้นและมีโอกาสกระดูกหักได้
    • ถ้ามะเร็งต่อมลูกหมากลุกลามไปบริเวณท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เข้าห้องน้ำบ่อย ปัสสาวะลำบาก หรือ ปัสสาวะมีเลือดปน

ซึ่งมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแพร่กระจายนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การชะลอและยับยั้งการลุกลามของมะเร็ง และคงสภาพให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยการรักษาจะเน้นยาที่มีผลได้ทั่วร่างกาย เช่น การใช้ยาฉีดเคมีบำบัด การใช้ยาเม็ดรับประทานเพื่อยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย เป็นต้น

อาการ เมื่อมะเร็งต่อมลูกหมากลามไปกระดูก

เมื่อเข้าสู่ระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากสามารถฝังตัวเข้าไปยังส่วนใดของร่างกายก็ได้ ซึ่งจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ภาวการณ์อุดกั้นทางเดินปัสสาวะจนไม่สามารถระบายของเสียต่างๆ จากร่างกายได้ทำให้เกิดไตวาย ภาวะโลหิตจางจากเซลล์มะเร็งไปทำลายกระดูก แต่ส่วนมากมักพบว่ามีแนวโน้มสูงมากที่จะแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก โดยเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนล่าง กระดูกเชิงกราน และกระดูกต้นขา ซึ่งถือเป็นระยะสุดท้ายของโรค บ้างก็เรียกว่า “โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเข้ากระดูก”

อาการ เมื่อมะเร็งต่อมลูกหมากลามไปกระดูก

อาการ มะเร็งต่อมลูกหมาก ในระยะลามเข้ากระดูก

    • อาการเบื่ออาหาร ไปจนถึงรับประทานอาหารไม่ได้ น้ำหนักลดลงในระยะเวลาอันรวดเร็ว
    • แขน ขา เท้าบวม จนถึงขั้นเดินไม่ได้
    • ปวดกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อสะโพก กระดูกซี่โครง หัวไหล่
    • ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง จะถึงขั้นเป็นอัมพาต เนื่องจากมีกระดูกสันหลังหักทับเส้นประสาท

การรักษาผู้ป่วยในระยะนี้จะไม่สามารถช่วยให้หายขาดได้แล้ว ซึ่งจำเป็นจะต้องรักษามากกว่า 1 วิธี เช่น การผ่าตัดลูกอัณฑะออกทั้งสองข้าง การฉายแสง ให้ยาต้านแอนโดรเจน ฯลฯ แต่จะเป็นเพียงการลดการถูกทำลายของกระดูก บรรเทาอาการปวด และช่วยยืดชีวิตผู้ป่วย

อ่านเรื่องของ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งหมด :

อ่านบทความทางการแพทย์เพิ่ม