ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นอีกโรคหนึ่งที่ทางการแพทย์ยังคงไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุของการเกิด แต่สามารถบ่งบอกถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้
ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- อายุ ความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากจะเพิ่มขึ้นตามอายุโดยเฉพาะหลังอายุ 50 ปี
- เชื้อชาติ คนเชื้อชาติผิวสีดำ (แอฟริกัน-อเมริกัน) จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าประชากรชายผิวขาว
- ประวัติครอบครัว โดยพบว่าหากมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 20% เนื่องจากคาดว่ามาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบิดาหรือพี่ชาย/น้องชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมีคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งชนิดอื่น
- การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการสูบบุหรี่อาจทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้มะเร็งต่อมลูกหมากเติบโต และทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากรุนแรงและลุกลามเร็วกว่าปกติ
- ความอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะผู้ชายที่อยู่ในภาวะ “อ้วนลงพุง” มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน
- อาหารไขมันสูง เช่น อาหารจำพวกเนื้อแดง เป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
อาหาร หนึ่งในปัจจัยก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากที่สำคัญ
หลายงานวิจัยพบว่า “อาหาร” เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างชัดเจน ซึ่งอาหารบางประเภทก็ใกล้ตัวมาก จนบางท่านก็รับประทานอยู่เป็นประจำโดยไม่ทราบว่านั่นคือความเสี่ยงหลักของโรคมะเร็ง
โดยอาหารที่มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดโรค ได้แก่
อาหารไขมันสูง
อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด เนื้อติดมัน อาหารทอด เบคอน แฮม ฯลฯ ไขมันจะถูกย่อยเป็นกรดไขมัน และกรดไขมันเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกายจำนวนมาก ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ง่าย
อย่างไรก็ตามไขมันยังคงมีความจำเป็นต่อร่างกายด้วยเช่นกัน จึงควรหันมาบริโภคอาหารที่มีกรดไขมันดี เช่น ถั่วต่าง ๆ ปลาที่มีโอเมก้า 3 สูง เช่น แซลมอน ทูน่า หรือปลาซาดีน น้ำมันดี ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า ในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
.
นม
ในวัยเด็กเรามักจะดื่มนมอยู่เป็นประจำทุกวัน เพราะจะได้รับสารอาหารหลากหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และยังเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยออกมาว่าการกินนมมากเกินไป มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามีบางอย่างในน้ำนมที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มากกว่าการได้รับแคลเซียมจากแหล่งที่ไม่ใช่น้ำนม แม้งานวิจัยนี้ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน แต่ก็มีคำแนะนำว่าให้ดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณพอเหมาะอยู่ที่ประมาณ 1,000 มิลลิกรัม ในผู้ชายอายุ 51-70 ปี และ 1,200 มิลลิกรัมสำหรับผู้ชายอายุตั้งแต่ 71 ปีขึ้นไป
เนื้อแดง
ทุกวันนี้เนื้อแดงที่วางขายอยู่ทั่วไป มักจะมีสารเคมีประเภทไนเตรตและไนไตรต์ ซึ่งเป็นสารเร่งเนื้อแดงทำให้มีสีแดงน่ารับประทาน รวมถึงสารที่ทำให้เนื้อไม่เน่าเสีย พบมากในอาหารจำพวกแฮม ไส้กรอก ฯลฯ เมื่อร่างกายของเราได้รับสารเหล่านี้เข้าไปสะสมในร่างกายมากเกินไปก็จะเป้นอันตรายต่อสุขภาพ
ผลของการที่มีสารไนเตรตและไนไตรต์ สะสมเป็นระยะเวลานาน มีโอกาสทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
สำหรับอาหารทุกประเภทล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม และมีการปรุงสุกอย่างถูกวิธี จึงไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป
อาหาร ที่ช่วยป้องกัน โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
จากบทความที่แล้วเราเอ่ยถึง อาหารที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากกันไปแล้ว ซึ่งอาหารก็ไม่ได้มีแค่โทษเพียงอย่างเดียว หลายอย่างกลับมีประโยชน์ และยังช่วยป้องกัน ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้อีกด้วย เรื่องของอาหารการกินจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจและมองข้ามไม่ได้ โดยอาการที่แนะนำว่ามีผลต่อการป้องกันโรค ได้แก่ สารไลโคปีน (Lycopene-Rich Foods)
มะเขือเทศ
เป็นอาหารที่ได้รับการยอมรับจากผลการวิจัยว่าสารไลโคปีนที่เป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีส่วนช่วยในการชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมะเขือเทศที่ปรุงสุก เพราะร่างกายสามารถดูดซึมและนำสารไลโคปีนไปใช้ได้ง่าย จะยิ่งช่วยให้ร่างกายได้รับไลโคปีนได้มากกว่าการรับประทานมะเขือเทศสด ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ ได้แก่ มะเขือเทศปรุงสุก ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ ซุปมะเขือเทศ ฯลฯ สามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ถึง 33% และการกระจายตัวของมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง 36%
สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และสารไอโซฟลาโวน (Isoflavone)
มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง สารฟลาโวนอยด์และสารไอโซฟลาโวนพบมากในถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (Soy) มากที่สุด และพบสารนี้ได้บ้างในไวน์แดง ลูกทับทิม และแครนเบอร์รี
Selenium
Selenium มีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ไม่ได้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระโดยตรง แต่มีส่วนช่วยในการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ ซึ่งจากการศึกษา ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เชื่อว่า Selenium สามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ร้อยละ 50-65 พบมากใน ข้าว ถั่ว ปลา กระเทียม
สังกะสี
มีการศึกษาพบว่าสังกะสี จะไปสะสมที่ต่อมลูกหมากเป็นจำนวนมากกว่าอวัยวะอื่น และอาจมีผลการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้ สังกะสี เป็นสารอาหารที่พบได้มากใน อาหารกลุ่มที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ตับ นม ปู กุ้ง ไข่ หอยนางรม พืชผัก เช่น ข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดพืช ผักใบเขียวต่างๆ
วิตามินดี
วิตามินดี มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune System) ช่วยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาคุกคามร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เซลล์มะเร็ง วิตามินดีจึง D มีผลในการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก และลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งวิตามิน D ที่ได้รับส่วนมากได้รับมาจากการสัมผัสกับแสงแดด เนื่องจากร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีเองได้ใต้ชั้นผิวหนัง ผ่านการกระตุ้นจากรังสียูวีบี
วิตามินอี
วิตามิน E ถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง พบได้ในถั่วอัลมอนต์ ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง มะม่วง ผักบล็อกโคลี
อ่านเรื่องของ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งหมด :