เมื่อเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รักษาหายไหม โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) พบมากในผู้ชายสูงอายุ เพราะขนาดของต่อมลูกหมากจะเติบโตอย่างช้า ๆ ไปตามวัย แต่หากโตมากผิดปกติก็อาจทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งแพร่กระจายอยู่ในต่อมลูกหมากได้ ซึ่งในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการบ่งบอก แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพประจำปีตามปกติ โดยสังเกตได้จากอาการ ดังนี้
อาการบ่งบอก ของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
ปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง ต้องออกแรงเบ่ง
ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะเวลากลางคืน
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
รู้สึกปวดขณะปัสสาวะ หรือเวลาหลั่ง
มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ
ทว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะตรวจพบเมื่อมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่ในระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งได้เริ่มออกจากต่อมลูกหมากไปแล้ว ฉะนั้นอย่าชะล่าใจเมื่อเกิดอาการต่าง ๆ ในข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รักษาหายไหม แล้วมีวิธีรักษาอย่างไร
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม โดยหากอาการอยู่ในระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดได้ถึง 80-90% หากอยู่ในระยะที่ 2 มีโอกาสหายถึง 50-70% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ อายุ สุขภาพร่างกายของผู้ป่วย ชนิดของเซลล์มะเร็ง เป็นต้น แต่เมื่อเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว แพทย์จะมีวิธีรักษาที่อาจทำควบคู่กันไปมากกว่า 1 วิธี ดังนี้
การเฝ้าระวัง
ใช้ในผู้ป่วยระยะแรก หรือผู้ป่วยสูงอายุมาก ๆ โดยเป็นเพียงการเฝ้าระวัง แต่ไม่ได้ทำการรักษา
การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก
เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาต่อมลูกหมากรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด ใช้ในผู้ป่วยระยะที่ยังไม่ลุกลามมาก และต้องเป็นผู้ป่วยที่ยังมีอายุไม่มากนัก โดยทำได้อยู่หลายวิธี เช่น การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดเเบบส่องกล้อง การผ่าตัดแบบส่องกล้องผ่านอวัยวะเพศ การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นต้น
การฉายรังสีบำบัด
เป็นวิธีเลี่ยงการผ่าตัดในผู้สูงอายุ หรือมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ผ่าตัดไม่ได้ โดยมี 2 วิธี คือ การฉายรังสีจากภายนอกร่างกายด้วยรังสีรังสีเอกซเรย์หรือรังสีโปรตอน และการฉายรังสีจากภายในร่างกาย
รักษาด้วยความเย็นจัด
หากการรักษาแบบฉายรังสีบำบัดไม่ได้ผล แพทย์อาจหันมาใช้วิธีรักษาด้วยความเย็นจัดในการช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งด้วยการใช้เข็มเล็ก ๆ สอดเข้าไปในต่อมลูกหมากทางผนังทวารหนัก
ควบคุมฮอร์โมนเพศชาย
วิธีนี้จะใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เพราะฮอร์โมนชนิดนี้ทำให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น สามารถใช้วิธีนี้ได้ในทุกระยะของมะเร็งควบคู่กับวิธีการรักษาอื่น
เคมีบำบัด
หากรักษาด้วยการควบคุมฮอร์โมนแล้วไม่ได้ผล และอยู่ในระยะแพร่กระจายแล้ว แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีเคมีบำบัดแทน ด้วยการให้ยาอาจฉีดเข้าเส้นเลือดดำที่แขนหรือรับประทานยา
ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมในการดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อหวังผลในการรักษาให้ดีขึ้นได้ ที่สำคัญควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- งดดูดบุหรี่
- ห้ามกลั้นปัสสาวะ
- อย่าทำอะไรให้กระทบกระเทือนต่อมลูกหมาก เช่น ขี่จักรยาน เพราะจะยิ่งทำให้ปัสสาวะไม่ออก