การแบ่งระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก
กลไกของการเกิด เซลล์มะเร็ง
มะเร็ง (cancer) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกายตามอวัยวะต่างๆ หรือเกิดกลายพันธุ์ ทำให้มีการเติบโตแบบแบ่งตัวของเซลล์ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสามารถลุกลามไปสู่อวัยวะส่วนอื่นในร่างกายได้
จากเซลล์ปกติ กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้อย่างไร
มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุแต่ต่างกันออกไปในแต่ละชนิดของมะเร็ง เช่น เกิดจากการเหนี่ยวนำของสารเคมีที่ได้รับ โดยเฉพาะการบริโภคอาหาร สิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือ เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์ เนื่องมาจากการได้รับสารกระตุ้นบางอย่าง และเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้
มะเร็งแพร่กระจายได้อย่างไร
เมื่อเซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าต้นกำเนิดเซลล์มะเร็งนั้นจะมาจากอวัยวะใดๆก็ตาม เมื่อเติบโตจนถึงระดับนึงก็จะเริ่มมีการแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะข้างเคียง มีการเข้าสู่ระบบเลือดหรือระบบทางเดินน้ำเหลืองไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งกลไกเหล่านี้มีความซับซ้อนและขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ดังนั้นการรักษามะเร็งจึงมุ่งหวังที่จะควบคุมการแพร่ระจายของโรคมะเร็ง โดยการรักษาจะมุ่งเป้าไปที่อวัยวะต้นกำเนิดมะเร็ง เพื่อควบคุมการขยายตัว และรักษาบรรเทาอาการของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่มีการลุกลามของโรคไปยังกระดูก การรักษาจะยังคงใช้ยารักษาที่มุ่งเป้าที่มะเร็งต่อมลูกหมากเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคและลดการลุกลามไปที่กระดูก
การแบ่งระยะของ มะเร็งต่อมลูกหมาก
เมื่อแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยโรคชี้ชัดแล้ว ขั้นตอนต่อไปจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดระยะของอาการ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม โดยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก เป็นระยะเริ่มต้น มะเร็งยังมีขนาดเล็ก อยู่ที่ต่อมลูกหมากในผู้ชายเพียงกลีบเดียว มียังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งระยะนี้ยังคงสามารถรักษาให้หายขาดได้
ระยะที่ 2 มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งอย่างช้าๆ
ระยะที่ 3 มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย เซลล์มะเร็งเริ่มมีการแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะ และอาจลุกลามเข้าท่อน้ำเชื้อด้านข้าง
ระยะที่ 4 มะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่กระดูกและต่อมน้ำเหลือง
อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมลูกหมาก โดยมากเป็นมะเร็งที่มีการลุกลามค่อนข้างช้า หากพบว่า ผู้ป่วยตรวจพบเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้นๆ เช่นที่ระยะ 1 ถึง 2 มีความเป็นไปได้สูงมากที่โรคจะเติบโตช้าและอยู่ในระยะนี้ถึงประมาณ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีโอกาสที่ผู้ป่วยบางกลุ่มมีอาการลุกลามของโรคเร็วกว่านี้ได้
การแบ่งความเสี่ยงในการแพร่กระจายของมะเร็ง
นอกจากการแบ่งระยะของมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วยังมีการแบ่งความเสี่ยงในการลุกลามหรือกระจายของเซลล์มะเร็งเพื่อประกอบในการตัดสินใจการรักษาของแพทย์ซึ่งจะใช้ข้อมูลจากค่าผลเลือด PSA Gleason score และ TNM staging
1.Prostatic Specific Antigen หรือ PSA เป็นสารที่ถูกสร้างและหลั่งมาจากต่อมลูกหมาก ดังนั้นหากพบว่ามีค่า PSA ที่สูงกว่าค่าปกติ (ค่าปกติ 4 ng/mL) แสดงว่าต่อมลูกหมากอาจมีความผิดปกติ
2.Gleason score เป็นคะแนนที่แพทย์เป็นผู้ประเมินจากชิ้นเนื้อที่ได้มาจากต่อมลูกหมาก
Gleason score (GS) เท่ากับ 6 แสดงว่าเซลล์ต่อมลูกหมากมีแนวโน้มที่เพิ่มจำเซลล์ที่ต่ำ
Gleason score (GS) เท่ากับ 7 แสดงว่าเซลล์ต่อมลูกหมากมีแนวโน้มที่เพิ่มจำเซลล์ที่ปานกลาง
Gleason score (GS) มากกว่า 7 แสดงว่าเซลล์ต่อมลูกหมากมีแนวโน้มที่เพิ่มจำเซลล์ที่สูงช
3.TNM staging เป็นการประเมินจาก T (Tumor) ขนาดก้อนมะเร็ง N (Lymph nodes) มะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง M (Metastasis) การแพร่กระจายของโรคไปที่อวัยวะอื่น ซึ่งการประเมิน TNM staging ในโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มีดังนี้
T (Tumor) ขนาดก้อนมะเร็ง
T1 ก้อนมะเร็งมีขนาดที่เล็กมาก สามารถแบ่งย่อยได้ ดังนี้
T1a คือ ก้อนมะเร็งน้อยกว่า 5% ของชิ้นเนื้อทั้งหมดที่ตัดออกมา
T1b คือ ก้อนมะเร็งมากกว่า 5% ของชิ้นเนื้อทั้งหมดที่ตัดออกมา
T1c คือ ตรวจพบชิ้นเนื้อมะเร็งจากการตัดชิ้นเนื้อ อันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่นการเพิ่มขึ้นสูงของ PSA
T2 ก้อนมะเร็งมีขนาดจำกัดอยู่ภายในต่อมลูกหมาก สามารถแบ่งย่อยได้ ดังนี้
T2a คือ ก้อนมะเร็งมีขนาดเป็นครึ่งหนึ่งของต่อมลูกหมาก 1 ซีก และอยู่ในข้างใดข้างหนึ่งของต่อมลูกหมาก
T2b คือ ก้อนมะเร็งมีขนาดมากกว่าครึ่งหนึ่งของต่อมลูกหมาก 1 ซีก และอยู่ในข้างใดข้างหนึ่งของต่อมลูกหมาก
T2c คือ ก้อนมะเร็งอยู่ทั้งสองข้างของต่อมลูกหมาก
T3 ก้อนมะเร็งลุกลามผ่านชั้นเยื่อหุ้มต่อมลูกหมาก (capsule) แบ่งย่อยได้ดังนี้
T3a คือ ก้อนมะเร็งอยู่ในเยื่อหุ้มต่อมลูกหมาก
T3b คือ ก้อนมะเร็งลุกลามไปในท่อนำอสุจิ (seminal vesicles)
T4 ก้อนมะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะที่ใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
Node (N) มะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง
N0 คือ มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
N1 คือ มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้เคียงต่อมลูกหมาก
Metastasis (M) การแพร่กระจายของโรคไปที่อวัยวะอื่น
M0 มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
M1 มะเร็งแพร่กระจายออกนอกต่อมลูกหมาก สามารถแบ่งย่อยได้ดังนี้
M1a คือ มะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณนอกอุ้งเชิงกราน
M1b คือ มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูก
M1c คือ มะเร็งแพร่กระจายไปที่ส่วนหรืออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
ตารางการรักษาตามความเสี่ยงในการแพร่กระจายของมะเร็ง
มะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
สำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย แม้จะเป็นมะเร็งชนิดที่ดูไม่รุนแรงมากนัก เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับอวัยวะอื่นในร่างกาย เพราะมีการลุกลามอย่างช้าๆ และหากตรวจพบเจอตั้งแต่ระยะแรกเริ่มก็มีสิทธิ์รักษาให้หายขาดได้หรือสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้อย่างยาวนาน
โดยสามารถตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ง่ายที่สุดจากการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งควรจะเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอทุกปี ประกอบกับการสังเกตอาการของตัวเอง โดยเฉพาะเวลาปัสสาวะด้วย หากมีความผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
วิธีการรักษานั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ระยะโรคและสภาวะของผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษามากมาย ซึ่งมีการคิดค้นยาหรือนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อชะลอและควบคุมไม่ให้มะเร็งลุกลามได้เป็นเวลานาน เช่น วิธีผ่าตัด ฉายแสง การควบคุมฮอร์โมนโดยการผ่าตัดหรือการใช้ยาฮอร์โมนกลุ่มดั้งเดิมหรือยาฮอร์โมนกลุ่มใหม่ การใช้ยาเคมีบําบัด ฯลฯ ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย ส่วนใหญ่ หากเสียชีวิตลงจึงมักถูกวินิจฉัยสาเหตุจากโรคอื่นมากกว่าจากการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก