วิธีรักษา โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

เมื่อแพทย์ได้ชี้ชัดถึงการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ขั้นตอนการรักษานั้นมีหลากหลายวิธี โดยจะมีแนวทางการรักษาไปตามระยะของโรค ประกอบกับดูในเรื่องของสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย ซึ่งอาจใช้หลายวิธีการรักษาควบคู่กัน โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ วิธีการรักษาหลักๆมีดังนี้

การเฝ้าระวังเชิงรุก (active surveillance)

หากผู้ป่วยตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และแพทย์คาดการณ์ว่าความเสี่ยงในการแพร่กระจายของมะเร็งต่ำ เซลล์มะเร็งมีการเติบโตอย่างช้าๆ (low risk) กรณีนี้อาจไม่จำเป็นต้องรักษาโดยทันที สามารถใช้วิธีการเฝ้าระวังเชิงรุกได้  โดยแพทย์จะเฝ้าติดตามมะเร็งและการเติบโตของมะเร็งอย่างใกล้ชิด และอาจจะมีการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจร่วมกับการตรวจระดับ PSA ในเลือดเป็นระยะ ๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาหากมีสัญญาณการลุกลามของโรค ฉะนั้นจึงควรเข้ารับการตรวจค่า PSA และการตรวจด้วยวิธีอื่นควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอประมาณ 3-4 ครั้ง/ปี และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด  

การผ่าตัด (Surgery)

เป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่มีความแข็งแรงและพร้อมในการผ่าตัด และมะเร็งยังไม่ออกนอกต่อมลูกหมากหรือมีออกนอกต่อมลูกหมากไปในระดับหนึ่ง ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ เป้าหมายของการผ่าตัดต่อมลูกหมากคือผ่าเอาต่อมลูกหมากที่มีก้อนมะเร็งและผ่าเอาเนื้อเยื่อบริเวณรอบเซลล์มะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออก  ข้อควรคำนึงในการผ่าตัด คือ มีการดมยาสลบ หลังผ่าตัดต้องใช้สายสวนปัสสาวะประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาจมีปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะหรือสมรรถภาพทางเพศ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานร่วมด้วย วิธีการผ่าตัดมีหลายวิธี ขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ป่วยและการพิจารณาของแพทย์ การผ่าตัดมีดังนี้

    • การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open radical prostatectomy : ORP)

การผ่าตัดวิธีนี้แผลผ่าตัดจะใหญ่กว่าวิธีอื่นและใช้เวลานานในการฟื้นตัว

วิธีแรกเริ่มของการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก มีข้อดีคือสามารถเลาะต่อมน้ำเหลืองออกได้ง่ายกว่า แพทย์ทั่วไปที่มีความชำนาญสามารถทำการผ่าตัดได้ง่ายกว่า แต่ผู้ป่วย แผลจะใหญ่กว่าวิธีการผ่าตัดอื่นและใช้เวลานานในการฟื้นตัว

    • การผ่าตัดเเบบส่องกล้อง (Laparoscopic radical prostatectomy : LRP)

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทำการผ่าตัดเจาะรูขนาดเล็กบริเวณใต้สะดือ ใส่เครื่องมือผ่าตัดและส่องกล้องเข้าไป ดูผ่านจอมอนิเตอร์ที่มีความละเอียดสูงขณะทำการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก การผ่าตัดวิธีนี้แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะไม่เจ็บตัวมากนัก เสียเลือดน้อยกว่า ฟื้นตัวและใช้เวลารักษาตัวที่โรงพยาบาลสั้นลง

    • การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด(Robotic-assisted laparoscopic prostatectomy : RALP)

เป็นวิธีที่พัฒนาเพิ่มเติมขึ้นมาจากการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง โดยเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ วิธีนี้มีความแม่นยำสูงกว่า ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย และระยะเวลาพักฟื้นค่อนข้างรวดเร็ว

 

การรักษาโดยการฉายรังสีหรือรังสีบำบัด (Radiation therapy)

รังสีรักษาจะแตกต่างจากวิธีการผ่าตัดที่นำเอาต่อมลูกหมากที่มีเซลล์มะเร็งออก แต่จะมุ่งเน้นที่การใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่บริเวณต่อมลูกหมากโดยตรง วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยอายุมาก ร่างกายไม่แข็งแรงซึ่งอาจใช้ทดแทนการผ่าตัด หรือสำหรับผู้ที่ผ่านการผ่าตัดมาแล้ว อาจฉายแสงในกรณีที่อาจมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่เพื่อให้การควบคุมโรคดียิ่งขึ้น หรืออาจมีการใช้วิธีรังสีรักษาในระยะเเพร่กระจายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ เช่น อาการปวดกระดูกสืบเนื่องมาจากมะเร็งต่อมลูกหมากมีการกระจายไปที่กระดูก การฉายรังสีหรือรังสีบำบัด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

    • การฉายรังสีจากภายนอก

เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม โดยทางแพทย์ผู้ช่วยเชี่ยวชาญจะใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมด้วย เพื่อช่วยกำหนดตำแหน่งของมะเร็งต่อมลูกหมาก ให้การฉายรังสีมีความแม่นยำและตรงจุดมากยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบในการถูกอวัยวะข้างเคียง โดยการฉายรังสีจะใช้รังสีที่มีพลังงานสูงจากเครื่องผลิตรังสี ฉายเพื่อทำลายสารพันธุกรรมสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งหรือหยุดการเกิดเซลล์มะเร็งใหม่ๆ ทั้งนี้การฉายรังสียังสามารถทำลายเซลล์ปกติของร่างกายได้อีกด้วย  โดยปกติการฉายรังสีจะทำการฉายติดต่อกันหลายครั้ง เช่น ฉายรังสีติดต่อกันห้าวันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาหกถึงแปดสัปดาห์ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

 

    • การฝังแร่รังสี (Brachytherapy)

เป้าหมายของการฝังแร่รังสีจะคล้ายกับการฉายรังสีจากภายนอก คือ ต้องการทำลายเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ว่าจะแตกต่างกันตรงที่ จะใช้วิธีการฝังเข็มแร่หรือต้นกำเนิดรังสีเข้าไปภายในเนื้อต่อมลูกหมากเพื่อให้รังสีแผ่ออกมาทำลายเซลล์มะเร็ง โดยวิธีนี้มีความนิยมน้อยกว่าการฉายรังสีจากภายนอก

 

ผลข้างเคียงไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทุกราย ข้อควรคำนึงในการใช้รังสีบำบัดที่อาจเกดิขึ้นได้ คือ การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะคั่ง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปวดแสบเวลาปัสสาวะ เป็นต้น

 

รักษาด้วยการควบคุมฮอร์โมนเพศชาย (Hormone therapy)

เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากจะมีการเจริญเติบโตด้วยฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่าเทสโทสเทอโรน (testosterone) ซึ่งเปรียบเสมือนเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากจะกินฮอร์โมนเพศชายเป็นอาหารเพื่อทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวน ดังนั้นการรักษาด้วยการควบคุมฮอร์โมน หลักการคือ การยับยั้งร่างกายไม่ให้สร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนโดยตรง การหยุดการสร้างฮอร์โมนตั้งต้นที่พัฒนาต่อมาเป็นฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน หรือ การหยุดหรือขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเซลล์มะเร็ง ส่งผลทำให้ลดการพัฒนาของเซลล์มะเร็งหรือทำให้เซลล์มะเร็งตายในที่สุด ซึ่งการรักษาโดยการควบคุมฮอร์โมนสามารถใช้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยวิธีอื่นได้ เช่น เพิ่มเติมจากการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด หรือฉายรังสี รวมถึงสามารถให้ได้ในผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามออกนอกมะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อให้เกิดการรักษาแบบทั่วร่างกาย (systemic therapy) ในการควบคุมโรคให้ดีขึ้น โดยขึ้นกับความเหมาะสมและดุลยพินิจของแพทย์ สำหรับการรักษาด้วยการควบคุมฮอร์โมนสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

 

    • การผ่าตัดลูกอัณฑะทั้งสองออก (bilateral orchiectomy)

เนื่องจากอัณฑะเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเทอโรน ดังนั้น การผ่าตัดอัณฑะออก จึงทำให้การสร้างฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรนลดลง ทำให้แหล่งอาหารของเซลล์มะเร็งหายไป เซลล์มะเร็งจึงลดขนาดลงหรือตายไป ทั้งนี้การผ่าตัดอัณฑะเป็นการผ่าตัดแบบถาวรไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลับได้ ดังนั้นแพทย์อาจพิจารณาใส่อัณฑะเทียมให้กับผู้ป่วยหลังผ่าตัดได้ ซึ่งช่วยในด้านจิตใจของผู้ป่วย แต่หากผู้ป่วยไม่ต้องการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดลูกอัณฑะออกก็มีทางเลือกโดยการใช้ยารูปแบบรับประทานหรือรูปแบบฉีดในการต้านฮอร์โมนเพศชายได้

 

    • การใช้ยาต้านฮอร์โมนเพื่อทดแทนการตัดอัณฑะ

เป็นการใช้ยาเพื่อควบคุมหรือกดการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งยาต้านฮอร์โมนมีหลายรูปแบบและหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มมาตรฐานและกลุ่มใหม่ เช่น การใช้ยาควบคุมฮอร์โมนแบบฉีด ซึ่งจะออกฤทธิ์ที่ก้านสมอง ทำให้การสั่งการจากก้านสมองในการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในอัณฑะลดลง การรักษาโดยใช้ยาต้านฮอร์โมนมาตรฐานเพื่อป้องกันไม่ให้ฮอร์โมนเพศชายมากระตุ้นเซลล์มะเร็ง และในปัจจุบันมีการพัฒนาการรักษาโดยการใช้ยาต้านฮอร์โมนกลุ่มใหม่แบบกิน ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ในมะเร็งระยะก่อนลุกลามเพื่อชะลอการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ หรือใช้ในระยะแพร่กระจาย เพื่อควบคุมโรคให้สงบยาวนานมากยิ่งขึ้นและลดอาการของระยะโรคลุกลามที่มีอาการปวดกระดูก เป็นต้น ทั้งนี้การเลือกใช้ยาต้านฮอร์โมนชนิดใดขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์

 

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรักษาโดยควบคุมฮอร์โมน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ กระดูกพรุน เมื่อยล้า อาการร้อนวูบวาบ ความจำเสื่อมลง มีอาการแน่นตึงหน้าอกหรือหน้าอกมีขนาดโตขึ้น เป็นต้น

 

การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy)

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่อยู่ในระยะแพร่กระจาย โดยวิธีการให้ยาในรูปแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ในผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย สามารถให้ยาเคมีบำบัดควบคู่กับการควบคุมฮอร์โมนเพศชายได้ หรือสามารถใช้เป็นอีกทางเลือกการรักษาหลังจากไม่สามารถใช้การรักษาโดยการควบคุมฮอร์โมนเพศชาย โดยยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ด้วยการไปทำลายหรือยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้ทั่วร่างกาย ทำให้เซลล์ปกติมีโอกาสถูกทำลายด้วย ดังนั้นจึงมีอาการข้างเคียงจากการใช้เคมีบำบัดที่พบได้ คือ ทําให้จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง  ภาวะโลหิตจาง คลื่นไส้อาเจียน ปลายประสาทอักเสบ เยื่อบุช่องปากอักเสบ อ่อนเพลีย เมื่อยล้า มีไข้หรือติดเชื้อง่าย เป็นต้น

 

ทั้งนี้หลังจากการรักษา ยังคงต้องคอยติดตามอาการอยู่เป็นระยะ เพราะมีโอกาสที่มะเร็งต่อมลูกหมากจะกลับมากำเริบอีก สิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือการตรวจค่า PSA มะเร็งต่อมลูกหมากอยู่เป็นระยะ มาพบแพทย์ตามนัดและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และจากที่กล่าวมาข้างต้น ทางเลือกการรักษามีการพัฒนาขึ้นมามากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่เป็นหากมะเร็ง จะต้องจบลงด้วยการรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัดเสมอไป

 

ผลข้างเคียงจากการรักษา มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย

แน่นอนว่าหลังจากเข้ารับการรักษาก็ย่อมมีผลข้างเคียงตามมา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแพ้ และผลข้างเคียงจากการรักษาเกิดขึ้นแตกต่างกันออกไป ได้แก่

 

การรักษาโดยวิธีการผ่าตัด

การรักษาโดยวิธีผ่าตัดจะมีการใช้ยาสลบร่วมด้วย และการผ่าตัดมีโอกาสถูกเส้นประสาทและหูรูด ดังนั้นหลังการผ่าตัด คนไข้จะมีอาการอ่อนเพลีย และต้องใช้สายสวนปัสสาวะร่วมด้วยประมาณ 1-2 สัปดาห์ และอาจมีปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะ เช่น มีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง ยกสิ่งของ วิ่ง ไอ หรือหัวเราะ นอกจากนี้อาจส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ

 

ข้อแนะนำหลังการผ่าตัด เช่น พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก การทำสวน การทำงานบ้านต่างๆ การซักล้าง ทำความสะอาด ผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานร่วมด้วย

 

หากมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อาจใช้แผ่นรองปัสสาวะช่วย ให้ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เนื่องจากสีอ่อนจะทำให้มองเห็นรอยง่ายและอาจเตรียมเสื้อผ้าสำรองใส่กระเป๋าไว้เผื่อเปลี่ยน รวมถึงควรใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบาย ไม่รัดตัวจนเกินไป

 

การรักษาโดยรังสีบำบัด

ผลแทรกซ้อนจากการฉายรังสีขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสีที่ได้รับ โดยรังสีไปทำลายเซลล์ที่อยู่ข้างเคียงและผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีอาจมีอาการแดง หรือแสบได้ ซึ่งโดยมากอาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้นภายหลังการฉายไปสักระยะ ขอแนะนำคือ อย่าเกาหรือถูบริเวณที่ฉาย หลีกเลี่ยงการโดนแดด เนื่องจากผิวหนังมีความระคายเคืองง่ายกว่าปกติ อาบน้ำด้วยน้ำอุ่นไม่ร้อนจนเกินไปและถูทำความสะอาดด้วยสบู่อ่อนๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบายไม่รัดตึงและผิวผ้ามีความอ่อนนุ่นไม่ระคายเคือง

 

นอกจากนี้ยังมีอาการข้างเคียงอื่นที่มีโอกาสพบได้ เช่น ผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ใกล้กับท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะแสบ ขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะคั่ง หรือมีเลือดปนออกมาขณะปัสสาวะได้ รวมถึงมีอาการปัสสาวะเล็ด และผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารเช่น ท้องเสีย ผ่ายลมบ่อย ท้องอืด ไม่สบายท้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย จึงแนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ ทำตัวกระฉับกระเฉง และนอนพักระหว่างวัน

 

การรักษาโดยการควบคุมฮอร์โมนเพศชาย

เนื่องจากการรักษาจะทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับอวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงลักษณะของเพศชาย ดังนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียง เช่น เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ กระดูกพรุน เมื่อยล้า อาการร้อนวูบวาบ ความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อลดลง เป็นต้น

 

การรักษาโดยการควบคุมฮอร์โมนเพศชาย

 

ข้อแนะนำหากมีอาการร้อนวูบวาบ คือ ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดและรสจัด ใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบายระบายอากาศง่าย หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดและอากาศร้อนไม่ถ่ายเท หากมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน สามารถใช้ผ้าเช็ดตัวปูวางบนผ้าปูเตียงเนื่องจากเปลี่ยนทำความสะอาดได้สะดวกกว่า เป็นต้น

 

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

เนื่องจากยาสามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย นอกจากไปทำลายเซลล์มะเร็งแล้วก็ส่งผลต่อเซลล์ร่างกายที่ปกติด้วย เช่น ไปมีผลทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวลดลง ดังนั้นผู้ป่วยจึงเกิดภาวะภูมิคุ้มกันต่ำลงและมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยาเคมีบำบัดมีผลไปรบกวนการทำงานของไขกระดูก ซึ่งเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะโลหิตจางและอ่อนเพลียได้ อาการข้างเคียงอื่นๆที่เจอได้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน รับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ความอยากอาหารลดลง ผมร่วง น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น

 

ในคนที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน แนะนำให้ คือ แบ่งมื้ออาหารที่รับประทานออกเป็นมื้อเล็กๆ ทุกๆ 2-3ชั่วโมง เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน จิบน้ำบ่อยๆ รับประทานอาหารที่เย็นหรือไม่ร้อนจนเกินไปหรือรอให้อาหารคลายความร้อนก่อนรับประทาน พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรงหรือมีเครื่องเทศ หากบริโภคอาหารเนื้อแดงแล้วรู้สึกรสชาติแปลกไป ให้ลองเปลี่ยนเป็นอาหารเนื้อขาว เช่น ปลาเนื้อขาวที่มีกลิ่นน้อยและย่อยง่าย ถ้ากินอาหารแล้วรู้สึกว่ามีรสชาติของโลหะ ให้ลองเปลี่ยนไปใช้ช้อนส้อมที่วัสดุทำจากพลาสติก

 

 

 

” กลุ่ม PARANG คือ กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ
ด้านโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่มาให้ความรู้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ถูกต้อง “

การฟื้นฟูหลังผ่าตัด โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก