สำหรับผู้ชายไม่ว่าจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ก็ตาม ก็ควรจะหันมาดูแลสุขภาพใส่ใจเรื่องอาหารการกินเมื่อสูงอายุขึ้น นอกจากจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอแล้ว ยังเป็นการป้องกันตัวเองได้ดีจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย
สารไลโคปีน (Lycopene)
สารไลโคปีน พบมากในผักผลไม้สีแดง ส้ม เหลือง อาทิ แครอท มะเขือเทศ ฟักทอง เป็นต้น มีฤทธิ์ช่วยต้านการทำงานของฮอร์โมนเพศชายที่อาจเติบโตมาผิดปกติหรือเสียหายกลายเป็นเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยปริมาณของสารไลโคปีนจะเพิ่มมากขึ้นหากผ่านความร้อน เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ ฯลฯ เพราะจะทำให้เซลล์ในตัวมะเขือเทศแตกออกมาได้มากขึ้น ร่างกายก็จะดูดซึมได้ดีกว่า ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกัน รวมถึงลดการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมลูกหมากได้แล้ว ยังช่วยความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร เต้านม และปอดได้ด้วย โดยปริมาณที่แนะนำในการรับประทาน เช่น น้ำมะเขือเทศวันละ 1 กล่อง
ซัลโฟราเฟน (Sunforaphane)
ซัลโฟราเฟน เป็นสารเคมีที่พบในพืชผักพวกหัวกะหล่ำ อาทิ บร็อคโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ สามารถป้องกันสารอนุมูลอิสระ สาเหตุของการทำลายเซลล์ และทำลาย DNA ภายในร่างกายจนก่อให้เกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังประกอบด้วย
สารอาหาร 3,3-diindolylmethane หรือ DIM ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ต่อมลูกหมาก และสารซัลเฟอร์ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็งต่อมลูกหมากได้ดี โดยในงานวิจัยจากต่างประเทศระบุว่าหากรับประทานบร็อคโคลี 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ จะสามารถลดอัตราการเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้ถึง 50% หรือรับประทานอย่างน้อยเดือนละ 3 ครั้ง ก็จะลดความเสี่ยงได้ประมาณ 40%
วิตามินดี
แหล่งของวิตามินดีมาจากอาหาร อาทิ ปลาที่มีไขมันสูง แซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน เป็นต้น และการถูกกระตุ้นจากแสงแดด (รังสียูวีบี) ให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี โดยช่วงเวลาที่ดีคือ ช่วงเช้าก่อนเวลา 09.00 น. และช่วงเย็นหลัง 16.00 น. วันละ 10 – 15 นาที จะช่วยดูดซึมแคลเซียม มีส่วนในการเจริญเติบโตทำงานร่วมกับแร่ธาตุอื่นในร่างกายคือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งมีงานวิจัยออกมาพบว่าวิตามินดีมีความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็ง และยังสนับสนุนการให้วิตามินดีเสริมเพื่อช่วยควบคุมการเจริญของเซลล์ ต้านโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก
ไอโซฟลาโวน (Isoflavone)
ไอโซฟลาโวน เป็นสารอาหารจากพืชหรือเรียกว่าไฟโตนิวเทรียนต์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นไฟโตเอสโทรเจน (Phytoestrogen) มีผลต่อการยับยั้งมะเร็งที่เกี่ยวกับฮอร์โมน ช่วยปรับสมดุลให้กับฮอร์โมนเพศในร่างกาย ทำให้สุขภาพต่อมลูกหมากแข็งแรง และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีผลในการป้องกันความเสื่อมของร่างกาย ป้องกันการเกิดมะเร็ง หรือเนื้องอกต่างๆ ได้ พบมากในพืชตระกูลถั่ว โดยเฉพาะถั่วเหลือง อาทิ น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ นมถั่วเหลือง ฯลฯ
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ในงานวิจัยหลายฉบับพบว่าการออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างมีนัยสำคัญ ที่สำคัญยังพบว่าคนที่ออกกำลังกายในระดับปานกลางและระดับหนักนาน 30-60 นาทีต่อวัน มีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยกว่าคนที่ออกกำลังน้อยหรือไม่ได้ออกกำลังกายเลย แต่สิ่งสำคัญ คือ การออกกำลังกายที่ถูกต้องนั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับอายุ ความแข็งแรงและสุขภาพของคนคนนั้นเป็นสำคัญ