รวมข้อมูล การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ถูกต้อง ในผู้ป่วยแต่ละรายจะได้รับการรักษาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา และปัจจัยของตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งในปัจจุบันมีการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากอยู่หลายแบบ ดังนี้
การเฝ้าระวังเชิงรุก (active surveillance)
แพทย์จะทำการนัดผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของมะเร็งที่ต่ำ (low risk) เพื่อติดตามมะเร็งและการเติบโต ของมะเร็งอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะมีการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจร่วมกับการตรวจระดับ PSA ในเลือดเป็นระยะ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาหากมีสัญญาณการลุกลามของโรค
การผ่าตัด (Surgery)
หนึ่งในตัวเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีความพร้อมในการผ่าตัด มีเป้าหมายคือผ่าเอาก้อนมะเร็งและเนื้อเยื่อ บริเวณรอบเซลล์มะเร็ง ออกจากต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเทคนิคการผ่าตัดจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดโดยการใช้กล้อง (Laparoscopic) และการผ่าตัดโดยการควบคุมผ่านหุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotic-assisted radical prostatectomy) โดยมีข้อควรคำนึงหลังจากเข้ารับการผ่าตัด คือ หลังผ่าตัดต้องใช้สายสวนปัสสาวะประมาณ 1-2 สัปดาห์
ทำให้อาจเกิดปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะหรือสมรรถภาพทางเพศได้ ผู้ป่วยบางรายอาจต้อง มีการบริหารกล้ามเนื้อ อุ้งเชิงกรานร่วมด้วย
การฉายรังสีหรือรังสีบำบัด (Radiation therapy) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ
– การฉายรังสีจากภายนอก
เป็นการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงจากเครื่องผลิตรังสีฉายเพื่อทำลายสารพันธุกรรมสามาร
ถฆ่าเซลล์มะเร็งหรือหยุดการเกิดเซลล์มะเร็งใหม่ๆ
ทั้งนี้การฉายรังสียังสามารถทำลายเซลล์ปกติของร่างกายได้อีกด้วย
– การฝังแร่รังสี (Brachytherapy)
เป็นการฝังเข็มแร่หรือต้นกำเนิดรังสีเข้าไปในต่อมลูกหมากเพื่อให้รังสีแผ่ออกมาทำลายเซลล์มะเร็ง
ข้อควรคำนึงในการใช้รังสีบำบัด คือ การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปัสสาวะลำบากปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะคั่ง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปวดแสบเวลาปัสสาวะ เป็นต้น
การรักษาโดยการควบคุมฮอร์โมนเพศชาย (Hormone therapy)
ต่อมลูกหมากจะมีการเจริญเติบโตด้วยฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่าเทสโทสเทอโรน(testosterone) ซึ่งเปรียบเสมือนต่อมลูกหมากจะกินฮอร์โมนเพศชายเป็นอาหารเพื่อทำให้ต่อมลูกหมากเจริญเติบโต ดังนั้นการรักษาด้วยการ ควบคุมฮอร์โมนจะยับยั้งร่างกายไม่ให้สร้าง testosteroneหรือหยุดการทำงานของฮอร์โมน testosterone ส่งผลทำให้ลดการพัฒนาของเซลล์มะเร็งหรือทำให้เซลล์ตาย สำหรับการควบคุมฮอร์โมนแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
– การผ่าตัดลูกอัณฑะทั้งสองออก (bilateral orchiectomy)
เป็นการผ่าตัดอัณฑะออก ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพศชาย
– การใช้ยาต้านฮอร์โมน เป็นการใช้ยาเพื่อควบคุมหรือกดฮอร์โมนเพศชาย
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรักษา โดยควบคุมฮอร์โมน เช่น
เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ กระดูกพรุน เมื่อยล้า อาการร้อนวูบวาบ เป็นต้น
การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy)
เป็นตัวเลือกหลังจากที่ไม่สามารถใช้การรักษาด้วยการควบคุมฮอร์โมนเพศชายซึ่งเป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่สามารถ ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ด้วยการไปทำลายหรือยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้ทั่วร่างกาย สำหรับอาการข้างเคียง จากการใช้เคมีบำบัด คือ ปลายประสาทอักเสบเยื่อบุช่องปากอักเสบ เมื่อยล้า มีไข้ เป็นต้น