วิธีการตรวจคัดกรองเบื้องต้น และการวินิจฉัย

วิธีการตรวจหา มะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย แม้จะสามารถตรวจพบได้ในการตรวจสุขภาพทั่วไป แต่คุณผู้ชายส่วนใหญ่ก็มักจะมองข้ามไป เนื่องจากระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ ดังนั้นหากชะล่าใจและไปตรวจพบเมื่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว ก็อาจจะสายเกินไปที่จะรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งแตกต่างกับระยะเริ่มต้น ดังนั้น การตรวจคัดกรองเบื้องต้น จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากรู้ตัวเร็วและสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยหลังจากในบทความก่อนหน้านี้ได้เล่าถึงอาการที่สามารถบ่งบอกได้เบื้องต้นกันไปแล้ว หากมีอาการเหล่านั้นข้างต้นก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองเฉพาะทาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งการคัดกรองเบื้องต้นทำได้หลากหลายวิธี

การตรวจคัดกรองเบื้องต้น ได้แก่ 

    • การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนัก Digital rectal examination (DRE)

เป็นวิธีเบื้องต้นที่ทำได้ง่ายที่สุด และมีราคาการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากถูกที่สุด วิธีการคือ แพทย์จะใช้นิ้วมือสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อคลำหาต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก และคลำสัมผัสดูลักษณะผิดปกติของต่อมลูกหมาก ไม่ว่าจะเป็นขนาด รูปร่าง พื้นผิว และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก ซึ่งหากมีแนวโน้มเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง มีรอยขรุขระ ผิวไม่เรียบ

 

    • การเจาะเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostatic Specific Antigen : PSA)

เป็นการตรวจ มะเร็งต่อมลูกหมากที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดย PSA เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ของต่อมลูกหมาก มีหน้าที่ทำให้อสุจิมีลักษณะเป็นน้ำ ป้องกันการจับเป็นก้อน  และยังเป็นส่วนหนึ่งของต่อมอสุจิ การตรวจคัดกรองเบื้องต้นสำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก นิยมใช้วิธีเจาะเลือดเพื่อหาค่า PSA ซึ่งระดับค่าPSAที่สูงอาจบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติของต่อมลูกหมาก เช่น การอักเสบ การติดเชื้อ ต่อมลูกหมากโต และมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยค่า PSA ในระดับปกติจะอยู่ในช่วง 0-4 ng/mL หากผล PSA มีค่ามากกว่า 4 ng/mL ก็มีโอกาสเป็นได้ทั้งโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือโรคอื่นเกี่ยวกับต่อมลูกหมากด้วย ดังนั้นการดูระดับค่า PSA อย่างเดียวจึงไม่สามารถสรุปว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ต้องมีการพิจารณาตรวจเพิ่มเติมในขั้นต่อไป โดยการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง

 

    • การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Transrectal Ultrasound : TRUS)

แพทย์จะใช้เครื่องมือขนาดเท่านิ้วมือ สอดหัวตรวจเข้าทางทวารหนักไปที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งวิธีนี้เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ไปกระทบกับต่อมลูกหมาก และสะท้อนออกมาเป็นภาพด้วยคอมพิวเตอร์ การตรวจอัลตราซาวนด์ลักษณะนี้จะสามารถใช้ช่วยในการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากด้วยเข็มขนาดเล็กออกมาเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อต่อได้ด้วย โดยไม่ต้องวางยาสลบ แต่หลังการตัดชิ้นเนื้ออาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น ไข้ขึ้นสูง, ปัสสาวะปนเลือด, เลือดออกทวารหนัก, ปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น

 

การตรวจวินิจฉัย ได้แก่

    •  การตรวจด้วยการตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy)

เป็นการตรวจ เมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อที่สงสัย จึงทำการตัดชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมาก โดยการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ จากนั้นนำมาตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อดูว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นมะเร็งชนิดใด และอยู่ในระยะใดเพื่อทำการวางแผนการรักษาต่อไป

 

การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาการลุกลามของโรค

 

    • การตรวจเอกซเรย์คลื่นเเม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI)

เป็นการตรวจที่สามารถตรวจการแพร่กระจายของมะเร็ง เพื่อใช้วางแผน ประเมินการรักษาที่ควรจะได้รับ

 

    • การตรวจสแกนกระดูก (bone scan)

เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูงเป็นการตรวจการแพร่กระจายของมะเร็งว่ามีไปที่กระดูกหรือไม่ ซึ่งกระดูกเป็นอวัยวะที่มะเร็งต่อมลูกหมากชอบแพร่กระจายไปมากที่สุด วิธีการตรวจจะฉีดสารทึบแสงเข้าไปที่เส้นเลือดของผู้ป่วย หากกระดูกบริเวณใดมีความผิดปกติ สารนี้จะไปสะสมอยู่จยมองเห็นเป็นสีขึ้นมา ดังนั้นจึงนิยมตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกระดูก หรือมีความเสี่ยงการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่กระดูก

 

 

ค่า PSA ในต่อมลูกหมาก คืออะไร

หนึ่งในวิธีการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดนั่นคือการตรวจหาค่า PSA (Prostate Specific Antigen) ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนของการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ทุกครั้งที่กล่าวถึงเรื่องของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็มักจะมีการบอกเล่าเกี่ยวกับค่า PSA ที่ตรวจพบในผู้ป่วยแต่ละรายเกือบทุกครั้งไป หลายคนอาจเกิดข้อสงสัยว่าการตรวจ มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย ทำไมจึงต้องไปเกี่ยวข้องกับค่า PSA แล้วมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งค่าที่ออกมาในแต่ละระดับสามารถบ่งบอกถึงอะไรได้หลายอย่าง

PSA คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ของต่อมลูกหมาก มีหน้าที่ทำให้อสุจิเป็นน้ำ ไม่เกาะตัวเป็นก้อน
ในคนทั่วไปจะพบ PSA ในเลือดได้น้อย แต่จะพบสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น หรือ ผู้ป่วยที่เกิดปัญหากับต่อมลูกหมาก สาร PSA จะรั่วเข้าสู่กระแสเลือดมากกว่าคนปกติ ทำให้พบค่า PSA ที่สูง นั่นหมายถึงวิธีการหาค่า PSA คือ การเจาะเลือดเพื่อหาระดับ PSA ในเลือดนั่นเอง วิธีนี้จะเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการชัดเจนมากนัก

การตรวจหาค่า PSA แม้จะมีความแม่นยำระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการสรุปว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะยังมีปัจจัยผันผวนอื่นที่ส่งผลให้ค่า PSA เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้เช่นกัน ฉะนั้นหากแพทย์พบว่า ค่า PSA มากกว่า 4 ng/mL ก็มักจะแนะนำผู้ป่วยรออีกสักระยะเพื่อวัดระดับ PSA ใหม่อีกครั้ง เพื่อยืนยันว่ามีค่าสูงขึ้นจริง และให้เข้ารับการตรวจในขั้นตอนต่อไป เช่น การตรวจแบบตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปวินิจฉัยต่อ หรือมีการตรวจด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์     

 

ปัจจัยที่ทำให้ค่า PSA เปลี่ยนแปลง

แม้ว่าค่า PSA จะออกมาอยู่ในระดับเสี่ยงหรือไม่ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ เพราะค่า PSA นั่นมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สูงหรือต่ำกว่าปกติ การตรวจ มะเร็งต่อมลูกหมาก จึงต้องใช้มากกว่า 1 วิธีในการตรวจวินิจฉัย เพื่อนำไปประเมินต่อไป 

 

ปัจจัยที่ทำให้ค่า PSA สูงขึ้น 

    • Prostatic Hyperplasia (BPH) หรือต่อมลูกหมากโต คือต่อมลูกหมากขยายตัวมากกว่าปกติ แต่ไม่ได้เป็นมะเร็ง
    • ต่อมลูกหมากอักเสบ
    • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
    • ยาบางชนิดที่มีผลต่อฮอร์โมนเพศชาย
    • การมีเพศสัมพันธ์อาจท้าให้เกิด PSA ขึ้นไปเป็นเวลาสั้นๆ
    • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือการกระตุ้นต่อมลุกหมาก
    • การออกกำลังกายอย่างหนัก เช่นการขี่จักรยาน โดยเฉพาะก่อนการเจาะเลือด 48 ชั่วโมง
    • การตรวจต่อมลูกหมากด้วยนิ้วทางทวารหนัก
    • การตรวจ biopsy ต่อมลูกหมาก
    • การตรวจกระเพาะปัสสาวะ หรือการใส่สายสวนท่อปัสสาวะ

 

ปัจจัยที่ทำให้ค่า PSA ต่ำลง 

    • ยารักษาต่อมลูกหมากโต ในบางชนิดอาจลดระดับ PSA ได้
    • ผู้ที่ใช้ยาแอสไพรินเป็นประจำ
    • อาหารเสริมจำพวกสมุนไพร ส่งผลให้ระดับ PSA ต่ำลงได้
    • โรคอ้วนในผู้ชาย

 

 

ค่า PSA สูง อาจไม่ได้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเสมอไป

จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากมีการตรวจ มะเร็งต่อมลูกหมากแล้วพบว่ามีค่า PSA ที่สูง ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้นกว่าค่า PSA ต่ำ แม้จะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยและการตรวจ มะเร็งต่อมลูกหมาก วิธีอื่นร่วมด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อค่า PSA สูง จะต้องหมายถึงการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเสมอไป เพราะพบว่า ในผู้ป่วยบางรายมีค่า PSA ปกติ บางรายค่าออกมาสูงก็ไม่ได้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ค่า PSA สูง อาจบ่งบอกในแง่ของสุขภาพด้านอื่นได้เช่นกัน อาทิ

 

    • โรคต่อมลูกหมากโต (Benign prostate hyperplasia : BPH) 80% ของผู้ชายเป็นโรคต่อมลูกหมากโต พบในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป อาการของผู้ป่วยจะคล้ายกับผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในเบื้องต้นมาก แต่ในโรคต่อมลูกหมากโตจะไม่อันตรายถึงชีวิต
    • โรคต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) พบได้ในเพศชายทุกช่วงอายุ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในระบบทางเดินปัสสาวะโดยผ่านจากท่อปัสสาวะเข้าสู่ต่อมลูกหมาก แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีการอักเสบ และกลุ่มที่เกิดจาการระคายเคือง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง ปวดเอว และปวดท้องน้อยร่วมด้วย บางรายอาจเป็นมากจนปัสสาวะไม่ออก
    • โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection: UTI) เป็นโรคที่พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย การติดเชื้อแบคทีเรียของระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ท่อปัสสาวะไปจนถึงไต อาการมักจะปวดหลังร่วมกับปัสสาวะขัด
    • การกระทำที่รุนแรงกระทบต่อต่อมลูกหมาก เช่น การถูกส่องกล้อง การถูกตัดชิ้นเนื้อไปวินิจฉัย การถูกสวนท่อปัสสาวะจนถึงกระเพาะมาก่อนไม่นาน เป็นต้น 
    • ก่อนจะตรวจ PSA 48 ชม. ผู้ชายมีการหลั่งอสุจิมาก่อน

 

ในกรณีผู้ป่วยบางรายที่พบมะเร็งในระยะเริ่มแรก แล้วพบว่ามีการเติบโตที่ช้ามาก แพทย์อาจวินิจฉัยไม่ทำการรักษาแต่จะเป็นการติดตามเฝ้าระวังเชิงรุก เพราะผลข้างเคียงของการรักษาอาจไปกระทบต่อสุขภาพในผู้ชายสูงอายุแล้วเกิดผลเสียมากกว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่า มีหลายปัจจัยในการพิจารณาการวางแผนการรักษาซึ่งขึ้นกับปัจเจกบุคคล

 

 

” กลุ่ม PARANG คือ กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ
ด้านโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่มาให้ความรู้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ถูกต้อง “